
|
กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๕ ![]() กฎกระทรวง กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาต หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต และการอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๕ ----------------------- อาศัยอำ นาจตามความในมาตรา ๖ วรรคสอง และมาตรา ๔๘/๑ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ ๒ ในกฎกระทรวงนี้ “ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน” หมายความว่า ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้เป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม “ใบอนุญาต” หมายความว่า ใบอนุญาตตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน “โรงงานควบคุม” หมายความว่า โรงงานที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นโรงงานควบคุมตามมาตรา ๘ “อาคารควบคุม” หมายความว่า อาคารที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอาคารควบคุมตามมาตรา ๑๘ ข้อ ๓ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดา (ก) มีสัญชาติไทย (ข) ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรในสาขาที่กำหนดให้การจัดการพลังงานเป็นงานในวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขานั้น (ค) เป็นผู้สำเร็จการฝึกอบรมด้านการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด (ง) มีผู้ชำนาญการและผู้ช่วยผู้ชำนาญการตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ (จ) ไม่อยู่ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือไม่เคยถูกเพิกถอนใบอนุญาตที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในระยะเวลาสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาตหรือไม่เป็นผู้เคยต้องโทษโดยคำพิพากษาถึงที่สุดในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าสามปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต (๒) ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล (ก) ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมายไทย และมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจหรือให้บริการเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน หรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการใช้และการผลิตพลังงาน (ข) ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรและมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑) (ง) และ (จ) (ค) กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลอย่างน้อยหนึ่งคน ต้องมีคุณสมบัติตาม (๑) (ก) (ข) และ (ค) (ง) กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคล หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม (๑) (จ) ข้อ ๔ ผู้ขอรับใบอนุญาตต้องมีผู้ชำนาญการและผู้ช่วยผู้ชำนาญการซึ่งมีจำนวน หน้าที่ และคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (๑) ผู้ชำนาญการอย่างน้อยหนึ่งคน ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานและจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน โดยผู้ชำนาญการแต่ละคนสามารถตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้กับโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมได้ไม่เกินสามสิบแห่งในแต่ละรอบของการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ทั้งนี้ ผู้ชำนาญการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๓ (๑) (ก) (ข) (ค) และ (จ) (๒) ผู้ช่วยผู้ชำนาญการอย่างน้อยสองคน ทำหน้าที่ช่วยผู้ชำนาญการในการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน และช่วยผู้ชำนาญการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานโดยผู้ช่วยผู้ชำนาญการแต่ละคนสามารถตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้กับโรงงานควบคุมหรืออาคารควบคุมได้ไม่เกินสามสิบแห่งในแต่ละรอบของการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ทั้งนี้ ผู้ช่วยผู้ชำนาญการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๓ (๑) (ก) (ค) และ (จ) ข้อ ๕ ผู้ชำนาญการและผู้ช่วยผู้ชำนาญการต้องไม่เป็นผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการให้กับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นในเวลาเดียวกัน และต้องไม่เป็นบุคลากรประจำของโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมที่เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ข้อ ๖ การตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุมแต่ละแห่งต้องดำเนินการโดยผู้ชำนาญการอย่างน้อยหนึ่งคนและผู้ช่วยผู้ชำนาญการอย่างน้อยสองคน ข้อ ๗ ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบอนุญาตต่ออธิบดี พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบอนุญาต ข้อ ๘ เมื่ออธิบดีได้รับคำขอรับใบอนุญาตแล้ว ให้ตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต เอกสารและหลักฐานว่ามีความถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ ในกรณีที่คำขอรับใบอนุญาต เอกสาร หรือหลักฐานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้อธิบดีแจ้งให้ผู้ขอรับใบอนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือจัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด ในกรณีที่ผู้ขอรับใบอนุญาตไม่แก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับใบอนุญาตหรือไม่จัดส่งเอกสารหรือหลักฐานให้ถูกต้องครบถ้วนภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตทิ้งคำขอรับใบอนุญาต และให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ข้อ ๙ ในกรณีที่อธิบดีตรวจสอบคำขอรับใบอนุญาต เอกสาร และหลักฐานแล้วเห็นว่ามีความถูกต้องครบถ้วน อธิบดีจะมีคำสั่งออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตได้เมื่อปรากฏว่าผู้ขอรับใบอนุญาตมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๓ อธิบดีต้องแจ้งผลการพิจารณาเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่อธิบดีได้รับคำขอรับใบอนุญาต เอกสาร และหลักฐานที่มีความถูกต้องครบถ้วน ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งออกใบอนุญาต ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตมารับใบอนุญาตภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งออกใบอนุญาต หากไม่มารับใบอนุญาตภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าผู้ขอรับใบอนุญาตสละสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาต และให้อธิบดีจำหน่ายเรื่องออกจากสารบบ แล้วแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบ ในกรณีที่อธิบดีมีคำสั่งไม่ออกใบอนุญาต ให้แจ้งสิทธิและระยะเวลาอุทธรณ์ไว้ในหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้ขอรับใบอนุญาตทราบด้วย ข้อ ๑๐ ในการออกใบอนุญาต อธิบดีอาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ข้อ ๑๑ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเปลี่ยนแปลงผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการหรือประสงค์จะจัดให้มีผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากที่ได้รับอนุญาต ให้ยื่นคำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจำนวนผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการต่ออธิบดี พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจำนวนผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการ ในการพิจารณาคำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจำนวนผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการให้นำความในข้อ ๘ และข้อ ๙ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ข้อ ๑๒ ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตประสงค์จะเลิกดำเนินการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานให้ผู้รับใบอนุญาตแจ้งเป็นหนังสือให้อธิบดีทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวันก่อนการเลิกดำเนินการ พร้อมส่งใบอนุญาตคืนให้แก่อธิบดีเพื่อประทับตรายกเลิกใบอนุญาตต่อไป ข้อ ๑๓ ในกรณีที่ใบอนุญาตสูญหาย ถูกทำลาย หรือชำรุดในสาระสำคัญ ให้ผู้รับใบอนุญาตยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดี พร้อมด้วยเอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ใบแทนใบอนุญาตให้ใช้แบบใบอนุญาต โดยระบุคำว่า “ใบแทน” ไว้ที่ด้านบนของใบอนุญาต ข้อ ๑๔ คำขอรับใบอนุญาต ใบอนุญาต คำขออนุญาตเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขจำนวนผู้ชำนาญการหรือผู้ช่วยผู้ชำนาญการ และคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ อารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๔๗ (๓) แห่งพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ ได้บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานและมาตรา ๔๘/๑ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติให้ในกรณีที่จะต้องมีการตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงานตามมาตรา ๔๗ (๓) อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอาจอนุญาตให้บุคคลหรือนิติบุคคลเป็นผู้ดำเนินการแทนพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ โดยการกำหนดคุณสมบัติ การขอรับใบอนุญาตและการอนุญาตดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๔๑ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๕
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |