
|
กฎกระทรวงว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐ ![]() กฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนด เงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๕๐ ----------------------- อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕ (๓) และมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ให้ยกเลิก (๑) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ (๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ข้อ ๒ ให้อาคารดังต่อไปนี้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๒ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ และมาตรา ๓๔ (๑) อาคารของกระทรวง ทบวง กรม ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (๒) อาคารของราชการส่วนท้องถิ่น ที่ใช้ในราชการหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (๓) อาคารขององค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ที่ใช้ในกิจการขององค์การหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ (๔) โบราณสถาน วัดวาอาราม หรืออาคารต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการศาสนา ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการก่อสร้างไว้แล้วโดยเฉพาะ (๕) อาคารที่ทำการขององค์การระหว่างประเทศ หรืออาคารที่ทำการของหน่วยงานที่ตั้งขึ้นตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลต่างประเทศ (๖) อาคารที่ทำการสถานทูตหรือสถานกงสุลต่างประเทศ ผู้ดำเนินการเกี่ยวกับอาคารตามวรรคหนึ่ง ต้องส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน ที่ถูกต้องและเป็นไปตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒จำนวนสองชุด ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่อาคารดังต่อไปนี้ (๑) อาคารตามวรรคหนึ่ง (๑) และ (๕) ที่คณะรัฐมนตรีอนุญาตในกรณีที่มีเหตุผลพิเศษโดยจะกำหนดเงื่อนไขไว้ด้วยก็ได้ (๒) อาคารตามวรรคหนึ่งที่เกี่ยวกับความมั่นคงในทางราชการทหารหรือตำรวจ ข้อ ๓ เมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้รับแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลนตามข้อ ๒ วรรคสอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นตรวจพิจารณาแผนผังบริเวณ แบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลน เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการรักษาแนวอาคารตามถนนให้เป็นระเบียบ ระดับชั้นล่างของอาคาร ลักษณะสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับทาง ถนน หรือที่สาธารณะ ที่ว่างอื่น ๆ หรืออาคารต่างเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และบริเวณที่ต้องห้ามกระทำการสำหรับอาคารบางชนิดหรือบางประเภท และให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งให้ผู้ดำเนินการทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแผนผังบริเวณ แบบแปลน และรายการประกอบแบบแปลน ในกรณีที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนผังบริเวณ แบบแปลน หรือรายการประกอบแบบแปลนไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ผู้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแผนผังบริเวณ แบบแปลน หรือรายการประกอบแบบแปลนตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นเสนอแนะโดยไม่ชักช้า ข้อ ๔ ให้อาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง ที่เป็นอาคารประเภทหรือชนิดที่กำหนดไว้ในมาตรา ๓๒ ทวิ (๑) (๒) และ (๓) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี ตามมาตรา ๓๒ ทวิ ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามวรรคหนึ่งจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการตรวจสอบอาคาร การติดตั้ง และตรวจสอบอุปกรณ์ประกอบของอาคารที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕) โดยผู้ที่ทำการตรวจสอบต้องมีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดในกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๔) ถ้าหน่วยงานที่เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามข้อ ๒ วรรคหนึ่ง (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ที่ต้องจัดให้มีการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามวรรคสองไม่สามารถจัดหาผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบเองได้ ให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบหรือจัดหาผู้ดำเนินการตรวจสอบให้ ข้อ ๕ ให้ผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารตามข้อ ๔ จัดทำรายงานผลการตรวจสอบให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้น ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารบางส่วนหรือบางรายการไม่ผ่านหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในมาตรา ๘ (๑๕) ให้ผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงอาคาร หรืออุปกรณ์ประกอบของอาคารเพื่อให้อาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคารดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์ หรือมาตรฐานที่กำหนดให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นด้วย ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารนั้นดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอาคารหรืออุปกรณ์ประกอบของอาคารตามข้อเสนอแนะของผู้ที่ดำเนินการตรวจสอบโดยไม่ชักช้า ข้อ ๖ อาคารเพื่อใช้ประโยชน์ต่อส่วนรวมในหน้าที่ของทางราชการ กิจการสาธารณกุศลหรือเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นการชั่วคราวและมีกำหนดเวลารื้อถอน ซึ่งจัดทำหรือควบคุมโดยทางราชการ องค์การ หรือกิจการสาธารณกุศล ให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ข้อ ๗ อาคารชั่วคราวเพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารถาวรซึ่งสูงไม่เกินสองชั้นหรือสูงจากระดับพื้นดินถึงหลังคาหรือส่วนของอาคารที่สูงที่สุดไม่เกินเก้าเมตร และมีกำหนดเวลารื้อถอนเมื่ออาคารถาวรแล้วเสร็จ ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ แต่ให้ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) และ (๑๐) และให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา ๒๒ ข้อ ๘ อาคารเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการชั่วคราวแทนอาคารเดิมที่ถูกทำลายหรือทำให้เสียหายเนื่องจากภัยธรรมชาติ หรือเพลิงไหม้ หรือเหตุอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันซึ่งสูงไม่เกินสองชั้นหรือสูงจากระดับพื้นดินถึงหลังคาหรือส่วนของอาคารที่สูงที่สุดไม่เกินเก้าเมตรและไม่ใช่อาคารสาธารณะ อาคารพิเศษ หรืออาคารประเภทควบคุมการใช้ตามมาตรา ๓๒ โดยมีกำหนดเวลารื้อถอนไม่เกินหนึ่งปี ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ แต่ให้ได้รับการผ่อนผันไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น หรือประกาศของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งออกตามความในมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๔) (๖) (๗) (๘) (๙) และ (๑๐) และให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตรื้อถอนอาคารตามมาตรา ๒๒ ข้อ ๙ อาคารที่มีลักษณะเป็นเต็นท์ หรือปะรำชั้นเดียว เพื่อใช้ประโยชน์เป็นการชั่วคราวและไม่ใช่อาคารสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม หรือการศึกษา โดยมีกำหนดเวลารื้อถอนไม่เกินสิบวันให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตตามมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติ จันทน์เสนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการ ฯ ปฏิบัติราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่กฎกระทรวง ฉบับที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๒๘) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔ (พ.ศ. ๒๕๒๙) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มีบทบัญญัติที่อ้างถึงมาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ประกอบกับเป็นการสมควรปรับปรุงข้อกำหนดในการยกเว้น ผ่อนผันหรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารสำหรับอาคารของราชการ องค์การของรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ อาคารเพื่อการศาสนาหรืออาคารสถานทูต เพื่อให้ครอบคลุมถึงการได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารตามมาตรา ๓๒ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ และโดยที่มาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงยกเว้น ผ่อนผัน หรือกำหนดเงื่อนไขในการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนสำหรับอาคารดังกล่าว จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้ เล่ม ๑๒๔ ตอนที่ ๑๕ ก ราชกิจจานุเบกษา ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๐
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |