
|
ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ![]() ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้า ภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ----------------------- อาศัยความตามข้อ ๓๗ (๓) ตามประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่กรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๔๖ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานจึงได้ออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ หมวด ๑ บททั่วไป ----------------------- ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง คุณสมบัติของผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ” ข้อ ๓ ในประกาศนี้ (๑) “ผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ” หมายถึง ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคล (๒) “ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้า” หมายถึง บุคคลผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ (๓) “ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคล” หมายถึง นิติบุคคลที่ประกอบกิจการตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้าของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ข้อ ๔ ประกาศนี้ให้บังคับใช้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป หมวด ๒ คุณสมบัติผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคล ----------------------- ข้อ ๔ ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าต้องมีคุณสมบัติดังนี้ (๑) ไม่เป็นผู้ที่กระทำผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ (๒) ไม่เป็นผู้ที่ถูกเพิกถอนใบรับรองผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้ารวมกันตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป (๓) ไม่เป็นผู้ที่ถูกเพิกถอนใบรับรองผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าในระหว่างเวลาไม่เกิน ๑ ปีหลังจากถูกเพิกถอน (๔) มีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปี (๕) มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในการเป็นผู้ตรวจสอบและออกหนังสือรับรองระบบไฟฟ้า (๖) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ประเภทสามัญวิศวกรหรือวุฒิวิศวกรสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง ข้อ ๕ ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ (๑) ดำเนินกิจการในรูปนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการตรวจสอบระบบไฟฟ้า (๒) กรณีที่เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทจำกัด ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่าห้าแสนบาท (๓) มีสำนักงานที่แน่นอนเป็นหลักแหล่งน่าเชื่อถือ (๔) ไม่เป็นผู้ที่กระทำผิดจรรยาบรรณในวิชาชีพ (๕) ไม่เป็นผู้ที่ถูกเพิกถอนใบรับรองผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลรวมกันตั้งแต่ ๓ ครั้งขึ้นไป (๖) ไม่เป็นผู้ที่ถูกเพิกถอนใบรับรองผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลในระหว่างเวลาไม่เกิน ๑ ปี หลังจากถูกเพิกถอน (๗) มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทนิติบุคคล (๘) การดำเนินการตรวจสอบต้องใช้บุคคลที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมประเภทสามัญวิศวกร หรือวุฒิวิศวกร สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า แขนงไฟฟ้ากำลัง หมวด ๓ การออกใบรับรองผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคล ----------------------- ข้อ ๖ ผู้ที่จะขอเป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลจะต้องยื่นคำขอใบรับรองตามแบบ ธช./ฟ.๑ ท้ายประกาศนี้ต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน ข้อ ๗ เมื่อผู้ที่ประสงค์จะขอเป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคล ยื่นคำขอและได้รับการตรวจสอบคุณสมบัติและคุณวุฒิครบถ้วนแล้ว กรมธุรกิจพลังงานจะออกใบรับรองให้เป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าตามแบบ ธช./ฟ.๒ ท้ายประกาศนี้ ข้อ ๘ ใบรับรองให้เป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลที่กรมธุรกิจพลังงานออกให้มีอายุไม่เกิน ๕ ปี หากผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลประสงค์จะเป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบไฟฟ้านิติบุคคลต่อเนื่อง จะต้องยื่นเรื่องราวคำขอต่ออายุใบรับรองแทนแบบ ธช./ฟ.๑ ท้ายประกาศนี้ ก่อนใบรับรองจะสิ้นอายุไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน ข้อ ๙ ใบรับรองให้เป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลจะถูกพักใช้เมื่อผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลกระทำความผิดดังนี้ (๑) ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ (๒) กระทำผิดจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ (๓) มีพฤติการณ์ที่กรมธุรกิจพลังงานเห็นว่าอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่การพักใช้จะถูกพักใช้คราวละไม่เกิน ๑ ปี ข้อ ๑๐ ใบรับรองให้เป็นผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลจะถูกเพิกถอนเมื่อผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลคุณสมบัติหรือกระทำความผิด ดังนี้ (๑) ขาดคุณสมบัติตามคำขอใบรับรองตามแบบ ธช./ฟ.๑ (๒) กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายที่มีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนขึ้นไปหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทขึ้นไป (๓) กระทำผิดจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพอย่างร้ายแรง ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้านิติบุคคลผู้ถูกสั่งเพิกถอนจะขอใบรับรองใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนด ๑ ปี หมวด ๔ หน้าที่ของผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าและผู้ตรวจสอบไฟฟ้านิติบุคคล ----------------------- ข้อ ๑๑ ในการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบไฟฟ้านิติบุคคลจะต้องจัดเตรียมแบบแปลนแผนผังระบบไฟฟ้า แผนการตรวจโดยใช้แบบการตรวจสอบระบบไฟฟ้าในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่กรมธุรกิจพลังงานกำหนด ข้อ ๑๒ ในการตรวจสอบ ผู้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าหรือผู้ตรวจสอบไฟฟ้านิติบุคคลจะต้องจัดเตรียมเครื่องมือวัดพื้นฐานในการตรวจวัดระบบไฟฟ้าขณะที่มีการจ่ายไฟแล้วอย่างน้อยดังนี้ ๑. เครื่องวัดปริมาณไอก๊าซแบบพกพา ๒. เครื่องตรวจวัดความร้อนแบบพกพา ๓. เครื่องตรวจวัดมัลติมิเตอร์แบบทั่วไป ๔. เครื่องตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วไหลแบบฮอร์ทไลน์ ๕. เครื่องตรวจวัดความต้านทานสายดินแบบฮอร์ทไลน์ โดยเครื่องมือดังกล่าว ต้องมีเอกสารรับรองการสอบเทียบเครื่องมือวัดและอุปกรณ์ต่าง ๆ โดยให้มีการสอบเทียบทุก ๆ ๒ ปี ข้อ ๑๓ ในการตรวจสอบ จะต้องดำเนินการตามประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การกำหนดบริเวณอันตรายและมาตรฐานขั้นต่ำของระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ประกาศ ณ วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๗ ข้อ ๑๔ หากพบในภายหลังว่ารายงานผลการตรวจสอบเป็นเท็จ เนื่องจากไม่ได้มีการตรวจสอบจริง หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อช่วยเหลือให้การตรวจสอบนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐาน กรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจหน้าที่จะเพิกถอนใบรับรองได้ และห้ามผู้กระทำนั้นเป็นผู้ตรวจสอบอีกต่อไป รวมทั้งจะแจ้งหน่วยงานที่ควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยวิศวกรเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมของวิศวกรด้วย ประกาศ ณ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เมตตา บันเทิงสุข อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เล่ม ๑๒๔ ตอนพิเศษ ๓๕ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๖ มีนาคม ๒๕๕๐ |
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |