
|
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ![]() ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้าง ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ----------------------- โดยที่พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๑๖ กำหนดให้อธิบดีประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการฝึกอบรมผู้บริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้บริหารจัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๓ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงมีประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หมวด ๑ บททั่วไป ----------------------- ข้อ ๒ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน เพื่อให้บริหารจัดการและดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานได้อย่างปลอดภัยให้แก่ลูกจ้างระดับบริหาร หัวหน้างาน และลูกจ้างทุกคนภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ กรณีลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ เปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ซึ่งอาจทำให้ลูกจ้างได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือสุขภาพอนามัย ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมลูกจ้างทุกคนก่อนการเริ่มทำงาน การฝึกอบรมตามวรรคหนึ่งและวรรคสองให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หลักสูตรฝึกอบรมและวิทยากรฝึกอบรม ที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมให้แก่บุคคลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นายจ้างจัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการฝึกอบรมกับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน หรือหน่วยงานที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกำหนดหรือยอมรับ ข้อ ๓ ในการฝึกอบรมตามข้อ ๒ ผู้จัดฝึกอบรมต้องดำเนินการ ดังนี้ (๑) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตร (๒) จัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินหกสิบคน (๓) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม (๔) ออกหลักฐานแสดงการผ่านการฝึกอบรมให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ข้อ ๔ ให้นายจ้างเก็บหลักฐานการฝึกอบรมตามข้อ ๒ ได้แก่ ทะเบียนรายชื่อลูกจ้างซึ่งผ่านการอบรม วัน เวลา และสถานที่อบรม พร้อมลายมือชื่อของวิทยากรผู้ทำการอบรมไว้ในสถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่ลูกจ้างทำงาน พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบได้ หมวด ๒ หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ----------------------- ข้อ ๕ หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างระดับบริหาร ให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมสิบสองชั่วโมง ประกอบด้วย ๓ หมวดวิชาดังต่อไปนี้ (๑) หมวดวิชาที่ ๑ การบริหารงานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การควบคุมความสูญเสียจากอุบัติเหตุและโรคจากการทำงาน (ข) บทบาทหน้าที่ของลูกจ้างระดับบริหารเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (๒) หมวดวิชาที่ ๒ กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การบริหารกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของกระทรวงแรงงาน (ข) สาระสำคัญของกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติ (๓) หมวดวิชาที่ ๓ ระบบการจัดการด้านความปลอดภัยในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) แนวคิดการจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ข) ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานของกระทรวงแรงงาน (ค) การประยุกต์ใช้ระบบการจัดการความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบกิจการ ข้อ ๖ หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างระดับหัวหน้างาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสิบสองชั่วโมง ประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา ดังต่อไปนี้ (๑) หมวดวิชาที่ ๑ ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและบทบาทหน้าที่ของหัวหน้างาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (ข) บทบาทหน้าที่ของลูกจ้างระดับหัวหน้างานเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (๒) หมวดวิชาที่ ๒ กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การบริหารกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของกระทรวงแรงงาน (ข) สาระสำคัญของกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานและการนำกฎหมายไปสู่การปฏิบัติ (๓) หมวดวิชาที่ ๓ การค้นหาอันตรายจากการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การตรวจความปลอดภัย (ข) การวิเคราะห์งานเพื่อความปลอดภัย และการเฝ้าสังเกตงาน (ค) การสอบสวนและการรายงานอุบัติเหตุ (๔) หมวดวิชาที่ ๔ การป้องกันและควบคุมอันตรายตามความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องของสถานประกอบกิจการ มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง โดยอาจประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากเครื่องจักร (ข) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากไฟฟ้า (ค) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากการเคลื่อนย้ายและการจัดเก็บวัสดุ (ง) การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบกิจการ (จ) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (ฉ) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากสารเคมี (ช) การป้องกันและควบคุมปัญหาด้านกายศาสตร์ (ซ) การป้องกันและควบคุมอันตรายในงานก่อสร้าง (ฌ) การใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล สำหรับลูกจ้างระดับหัวหน้างานที่ผ่านการอบรมตามวรรคหนึ่งจากสถานประกอบกิจการเดิมแล้ว ให้ฝึกอบรมเฉพาะ (๔) เท่านั้น ข้อ ๗ หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ มีระยะเวลาการฝึกอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (๑) ความรู้เกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที (๒) กฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที (๓) ข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง สำหรับลูกจ้างที่ผ่านการอบรมตามวรรคหนึ่งจากสถานประกอบกิจการเดิมแล้ว ให้ฝึกอบรมเฉพาะ (๓) เท่านั้น ข้อ ๘ หลักสูตรฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานสำหรับลูกจ้างเปลี่ยนงาน เปลี่ยนสถานที่ทำงาน หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงแตกต่างไปจากเดิม มีระยะเวลาการฝึกอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (๑) ปัจจัยเสี่ยงจากการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที (๒) ข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีระยะเวลาการฝึกอบรมหนึ่งชั่วโมงสามสิบนาที หมวด ๓ วิทยากรฝึกอบรม ----------------------- ข้อ ๙ วิทยากรฝึกอบรม ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) เป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิชาที่บรรยายไม่น้อยกว่าสามปีหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้ หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี ทั้งนี้ ต้องมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี เป็นผู้มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิชาที่บรรยายไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี สำหรับการฝึกอบรมเฉพาะข้อ ๗ และข้อ ๘ (๒) เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า โดยสอนวิชาด้านความปลอดภัยในการทำงาน และมีประสบการณ์การสอนเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามปี (๓) เป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า หรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรพนักงานตรวจความปลอดภัยของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยในการทำงานมาไม่น้อยกว่าสามปีและมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าหนึ่งปี บทเฉพาะกาล ----------------------- ข้อ ๑๐ ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารหรือระดับหัวหน้างานตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ และประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ก่อนหรือหลังวันที่กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับและผ่านการฝึกอบรมก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับลูกจ้างระดับบริหาร และหัวหน้างานตามประกาศนี้ ข้อ ๑๑ ลูกจ้างที่ผ่านการฝึกอบรมเกี่ยวกับข้อบังคับว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของสถานประกอบกิจการตามข้อ ๓ ของกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ ก่อนประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน สำหรับลูกจ้างทั่วไปและลูกจ้างเข้าทำงานใหม่ตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ อาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เล่ม ๑๒๙ ตอนพิเศษ ๗๔ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |