
|
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ![]() ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙ ----------------------- โดยที่ข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในที่อับอากาศ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะที่จำเป็นในการทำงานอย่างปลอดภัย ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย พร้อมทั้งวิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานตามหลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรที่อธิบดีประกาศกำหนด อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๒๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๗ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. ๒๕๔๙” ข้อ ๒ ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป ข้อ ๓ ให้ยกเลิกประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ หมวด ๑ หลักเกณฑ์ วิธีการฝึกอบรม ----------------------- ข้อ ๔ ให้นายจ้างจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามหลักเกณฑ์ วิธีการ หลักสูตรการฝึกอบรมและวิทยากรฝึกอบรมที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ กรณีที่นายจ้างไม่สามารถจัดให้มีการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้แก่บุคคลตามวรรคหนึ่ง ให้นายจ้างจัดให้บุคคลดังกล่าวเข้ารับการฝึกอบรมกับหน่วยงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ข้อ ๕ ในการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ผู้จัดฝึกอบรมต้องดำเนินการดังนี้ (๑) แจ้งกำหนดการฝึกอบรมต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ก่อนการจัดฝึกอบรม (๒) จัดให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเข้ารับการฝึกอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรที่กำหนด (๓) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลผู้เข้ารับการฝึกอบรม (๔) ออกใบรับรองให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ข้อ ๖ ผู้จัดฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องจัดให้ห้องฝึกอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการฝึกอบรมภาคทฤษฎีไม่เกินสามสิบคน และวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน และในภาคปฏิบัติต้องจัดให้มีวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน ต่อผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่เกินสิบห้าคน ข้อ ๗ ในการฝึกภาคปฏิบัติ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องได้รับการฝึกภาคปฏิบัติในสถานที่จริงหรือมีลักษณะเหมือนสถานที่จริง และได้รับการฝึกใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรมอย่างทั่วถึงทุกคน ข้อ ๘ รายการอุปกรณ์การฝึกอบรมภาคปฏิบัติอย่างน้อย ต้องประกอบด้วย (๑) เครื่องตรวจวัดปริมาณออกซิเจนในบรรยากาศ (๒) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นขั้นต่ำของสารเคมีแต่ละชนิดในอากาศที่อาจติดไฟหรือระเบิดได้ (๓) เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศ (๔) เครื่องดับเพลิงแบบมือถือ (๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามเนื้อหาหลักสูตร ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย อุปกรณ์ป้องกันระบบหายใจชนิดส่งอากาศช่วยหายใจ อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน ในกรณีที่นายจ้างเป็นผู้จัดฝึกอบรม ให้นายจ้างเลือกใช้เครื่องตรวจวัดค่าความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศตามความเหมาะสมกับสารเคมีที่มีในสถานประกอบกิจการ หมวด ๒ หลักสูตรการฝึกอบรม ----------------------- ข้อ ๙ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศมี ดังนี้ (๑) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต (๒) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน (๓) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ (๔) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ (๕) หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ข้อ ๑๐ หลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศตามข้อ ๙ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมหกชั่วโมง ดังนี้ (๑) กฎหมายความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๒) ความหมาย ชนิด ประเภทของที่อับอากาศ และอันตรายในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๓) การประเมินสภาพงานและการเตรียมความพร้อมในการทำงานในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๔) วิธีการปฏิบัติงานในพื้นที่อับอากาศที่ถูกต้องและปลอดภัย หนึ่งชั่วโมง (๕) อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ใช้ในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๖) ระบบการขออนุญาตทำงานในที่อับอากาศและการขอยกเลิกการอนุญาตทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที (๗) บทบาท หน้าที่ ความรับผิดชอบของผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที ข้อ ๑๑ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐ ข้อ ๑๒ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ควบคุมงาน ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้ (๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐ (๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๔) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที (๕) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง ข้อ ๑๓ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ช่วยเหลือ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบชั่วโมง ดังนี้ (๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐ (๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที (๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที (๖) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที (๗) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง ข้อ ๑๔ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมเก้าชั่วโมง ดังนี้ (๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐ (๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที (๕) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าสามชั่วโมง ข้อ ๑๕ หลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือและผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ภาคทฤษฎีต้องมีหัวข้อวิชาและระยะเวลาการฝึกอบรมรวมสิบเอ็ดชั่วโมง ดังนี้ (๑) วิชาพื้นฐานและระยะเวลาการฝึกอบรมตามข้อ ๑๐ (๒) เทคนิคการตรวจสอบสภาพอากาศในที่อับอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๓) เทคนิคการระบายอากาศ หนึ่งชั่วโมง (๔) อันตรายที่อาจได้รับในกรณีฉุกเฉินและวิธีการหลีกหนีภัย สามสิบนาที (๕) การสั่งให้หยุดทำงานชั่วคราว สามสิบนาที (๖) การวางแผนการปฏิบัติงานและการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงานในที่อับอากาศ สามสิบนาที (๗) การดับเพลิงขั้นต้น สามสิบนาที (๘) การช่วยเหลือและช่วยชีวิต สามสิบนาที (๙) การปฐมพยาบาลและการช่วยเหลือเบื้องต้น สามสิบนาที การฝึกอบรมภาคปฏิบัติให้มีระยะเวลาการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าห้าชั่วโมง หมวด ๓ วิทยากรฝึกอบรม ----------------------- ข้อ ๑๖ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคทฤษฎีต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า (๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ โดยผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี (๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี โดยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี (๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี (๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย (๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ ข้อ ๑๗ วิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี (๒) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ และผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสองปี (๓) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างานมาไม่น้อยกว่าสามปี และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าสามปี (๔) มีความรู้และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าห้าปี (๕) สำเร็จการศึกษาหรือผ่านการอบรมเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยาย และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับหัวข้อที่บรรยายไม่น้อยกว่าห้าปี (๖) ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับ และมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานในที่อับอากาศไม่น้อยกว่าหนึ่งปี หมวด ๔ การขึ้นทะเบียนหน่วยงานฝึกอบรม ----------------------- ข้อ ๑๘ หน่วยงานที่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ได้แก่ (๑) สถาบันการศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ซึ่งมีหลักสูตรการสอน สาขาอาชีวอนามัยหรือเทียบเท่า (๒) หน่วยงานราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล (๓) รัฐวิสาหกิจ ตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (๔) นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด หรือกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งนิติบุคคลอื่น ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการจัดฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน (๕) หน่วยงานอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ข้อ ๑๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (๑) มีบุคลากรซึ่งมีคุณสมบัติไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทำหน้าที่บริหารจัดการการฝึกอบรมอย่างน้อยหนึ่งคน (๒) มีวิทยากรซึ่งมีคุณสมบัติตามข้อ ๑๖ หรือข้อ ๑๗ ที่ปฏิบัติงานเต็มเวลาในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอย่างน้อยหนึ่งคน (๓) มีเอกสารประกอบการฝึกอบรมที่มีเนื้อหาและรายละเอียดตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน (๔) มีอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมที่เหมาะสมกับหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน (๕) ไม่เคยถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง (๖) ไม่มีผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศอื่นที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรองมาแล้ว เว้นแต่พ้นกำหนดสามปี นับแต่วันที่ถูกเพิกถอนทะเบียนหรือถูกเพิกถอนใบรับรอง ข้อ ๒๐ ให้หน่วยงานที่มีความประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ยื่นคำขอพร้อมเอกสาร ดังต่อไปนี้ ต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย (๑) สำเนาเอกสารที่แสดงถึงความเป็นหน่วยงานตามข้อ ๑๘ (๒) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน (๓) สำเนาทะเบียนบ้านของผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงาน (๔) สำเนาหนังสือแสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการของนิติบุคคลหรือวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งหน่วยงาน (๕) แผนที่แสดงที่ตั้งของหน่วยงานโดยสังเขป (๖) แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานที่ฝึกภาคปฏิบัติโดยสังเขป (๗) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของบุคลากรซึ่งทำหน้าที่บริหารจัดการฝึกอบรม (๘) รายชื่อเอกสารหลักฐานแสดงคุณสมบัติของวิทยากร รวมทั้งหนังสือยืนยันการเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงาน (๙) เอกสารประกอบการฝึกอบรม ตามหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ขอขึ้นทะเบียน (๑๐) เอกสารแสดงรายการอุปกรณ์ประกอบการฝึกอบรมตามข้อ ๘ ให้ผู้มีอำนาจกระทำการแทนหน่วยงานลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๑ เมื่อมีการยื่นคำขอตามข้อ ๒๐ และอธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีขึ้นทะเบียนผู้ยื่นคำขอนั้นเป็นหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ และออกใบสำคัญแสดงการขึ้นทะเบียน พร้อมมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในห้าวัน นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน ในกรณีที่อธิบดีพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ยื่นคำขอขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีมีหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบโดยเร็ว ข้อ ๒๒ ในกรณีที่ปรากฏภายหลังว่า หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามข้อ ๑๙ ให้อธิบดีเพิกถอนทะเบียน ข้อ ๒๓ ในกรณีที่หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามข้อ ๒๑ มีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้ง สถานภาพของหน่วยงาน วิทยากรฝึกอบรม หรือมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดจากที่ได้ยื่นคำขอขึ้นทะเบียนไว้ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศนั้นส่งเอกสารแสดงการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง ข้อ ๒๔ การขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศให้มีอายุคราวละสามปี นับแต่วันที่ขึ้นทะเบียน หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาจยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายได้ไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน ก่อนวันที่การขึ้นทะเบียนจะสิ้นสุดลง และให้นำความในข้อ ๑๙ ข้อ ๒๐ และข้อ ๒๑ มาใช้บังคับแก่การยื่นคำขอต่ออายุการขึ้นทะเบียนโดยอนุโลม หมวด ๕ การกำกับดูแล ----------------------- ข้อ ๒๕ ให้นายจ้างจัดทำทะเบียนรายชื่อผู้ที่ผ่านการฝึกอบรม วัน เวลาที่ฝึกอบรม พร้อมรายชื่อวิทยากรเก็บไว้ ณ สถานประกอบกิจการหรือสำนักงานของนายจ้าง พร้อมที่จะให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบได้ตลอดเวลา ข้อ ๒๖ ให้นายจ้างจัดทำรายงานผลการฝึกอบรมตามข้อ ๔ ซึ่งประกอบด้วย ชื่อหลักสูตรจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ชื่อวิทยากร วันและเวลาที่ฝึกอบรม แจ้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เว้นแต่ในปีนั้นไม่ได้มีการฝึกอบรม ข้อ ๒๗ ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการฝึกอบรม และเอกสารเกี่ยวกับการประเมินผลการฝึกอบรมแต่ละครั้ง โดยให้วิทยากรซึ่งเป็นผู้ดำเนินการฝึกอบรมเป็นผู้รับรองเอกสารดังกล่าว และส่งเอกสารนั้นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม ข้อ ๒๘ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจเข้าไปในหน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้รับการขึ้นทะเบียน สถานที่จัดการฝึกอบรมเพื่อสอบถามข้อเท็จจริงตรวจสอบ หรือกำกับ ดูแลให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้ ให้ผู้ซึ่งเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวก ชี้แจงข้อเท็จจริง ส่งสิ่งของ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องแก่อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายในการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ข้อ ๒๙ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศใดฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายมีอำนาจสั่งการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด (๒) สั่งให้หยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว (๓) เพิกถอนทะเบียน บทเฉพาะกาล ----------------------- ข้อ ๓๐ ผู้ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือหรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศ ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ให้ถือว่าผู้นั้นผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้อนุญาต ผู้ควบคุมงาน ผู้ช่วยเหลือ หรือผู้ปฏิบัติงานในที่อับอากาศตามประกาศนี้ ข้อ ๓๑ หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศซึ่งได้ใบรับรองตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ให้ถือว่าเป็นหน่วยงานฝึกอบรมที่ขึ้นทะเบียนตามประกาศนี้ จนกว่าใบรับรองจะสิ้นอายุ ข้อ ๓๒ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรการเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานยอมรับตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ ลงวันที่ ๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ก่อนหรือหลังวันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับและผ่านการฝึกอบรมภายในวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้ถือว่าผู้นั้นมีคุณสมบัติเป็นวิทยากรผู้ทำการฝึกอบรมภาคปฏิบัติตามประกาศนี้ ประกาศ ณ วันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เล่ม ๑๒๓ ตอนที่ ๑๒๕ ง ราชกิจจานุเบกษา ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |