
|
ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ![]() ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ----------------------- อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๓๕ แห่งกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. ๒๕๔๙ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจึงออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้ ข้อ ๑ ประกาศนี้เรียกว่า “ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑” ข้อ ๒ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป หมวด ๑ บททั่วไป ----------------------- ข้อ ๓ ลูกจ้างซึ่งมีสิทธิเข้ารับการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยต้องเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูงหรือระดับบริหาร ข้อ ๔ นายจ้างซึ่งประสงค์ให้ลูกจ้างตามข้อ ๓ เข้ารับการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยต้องจัดให้ลูกจ้างนั้นได้รับการอบรมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หรือหน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย พร้อมยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ (๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาหนังสือเดินทางของผู้เข้ารับการอบรม (๒) สำเนาหนังสือรับรองการเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน ระดับเทคนิค ระดับเทคนิคขั้นสูง หรือระดับบริหาร ข้อ ๕ หน่วยงานฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ลงวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว ให้เป็นหน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยตามประกาศนี้ หมวด ๒ หลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ----------------------- ข้อ ๖ หลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ต้องมีระยะเวลาการอบรม ดังต่อไปนี้ (๑) ไม่น้อยกว่าสี่สิบสองชั่วโมง สำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหาร (๒) ไม่น้อยกว่าสามสิบชั่วโมง สำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูง ข้อ ๗ หลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยตามข้อ ๖ หน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยต้องจัดให้มีการอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ข้อ ๘ การอบรมภาคทฤษฎีสำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารต้องมีกำหนดระยะเวลาการอบรมสามสิบชั่วโมง ประกอบด้วย ๖ หมวดวิชา ดังต่อไปนี้ (๑) หมวดวิชาที่ ๑ กลยุทธ์ในการบริหารงานตามกฎหมายความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการ มีระยะเวลาการอบรมสามชั่วโมงประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ (ข) การบริหารจัดการตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน (๒) หมวดวิชาที่ ๒ กลยุทธ์การบริหารองค์กร มีระยะเวลาการอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารและการพัฒนาความเป็นผู้นำ (ข) เทคนิคการบริหารองค์กร (ค) การสื่อสาร มนุษย์สัมพันธ์ และการประสานงาน (๓) หมวดวิชาที่ ๓ การจัดการความเสี่ยงและการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงมีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การชี้บ่งอันตราย (ข) การประเมินความเสี่ยง (ค) การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและสุขภาพ (๔) หมวดวิชาที่ ๔ การจัดการสิ่งแวดล้อมในการทำงาน สภาพการทำงาน และการป้องกันโรคจากการทำงาน มีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากสิ่งแวดล้อมในการทำงาน (ข) การป้องกันและควบคุมอันตรายจากสภาพการทำงาน (ค) การป้องกันและควบคุมโรคจากการทำงาน (๕) หมวดวิชาที่ ๕ การจัดการด้านวิศวกรรมความปลอดภัย มีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การวางผังโรงงาน (ข) การจัดการด้านวิศวกรรมความปลอดภัยเกี่ยวกับเครื่องจักรและไฟฟ้า (ค) การจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายวัสดุและการเก็บรักษาวัสดุ (ง) แผนฉุกเฉินและการจัดการด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย (๖) หมวดวิชาที่ ๖ ระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และการตรวจประเมินมีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) ระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและการประยุกต์ใช้ (ข) การจัดทำคู่มือและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน (ค) การประเมินผลและการวัดผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย (ง) การตรวจประเมิน ข้อ ๙ การอบรมภาคปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับหัวหน้างาน หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับบริหารต้องมีกำหนดระยะเวลาการอบรมสิบสองชั่วโมง ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงพร้อมนำเสนอรายงานการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการของตน และการระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงและพัฒนาแผน ข้อ ๑๐ การอบรมภาคทฤษฎีสำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงต้องมีกำหนดระยะเวลาการอบรมสิบแปดชั่วโมง ประกอบด้วย ๔ หมวดวิชา ดังต่อไปนี้ (๑) หมวดวิชาที่ ๑ กลยุทธ์ในการบริหารงานตามกฎหมายความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในสถานประกอบกิจการ มีระยะเวลาการอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของหน่วยงานต่าง ๆ (ข) การบริหารจัดการตามกฎหมายความปลอดภัยในการทำงาน (๒) หมวดวิชาที่ ๒ กลยุทธ์การบริหารองค์กร มีระยะเวลาการอบรมสามชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) บทบาทหน้าที่ของผู้บริหารและการพัฒนาความเป็นผู้นำ (ข) เทคนิคการบริหารองค์กร (ค) การสื่อสาร มนุษย์สัมพันธ์ และการประสานงาน (๓) หมวดวิชาที่ ๓ การจัดการความเสี่ยงและการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงมีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) การชี้บ่งอันตราย (ข) การประเมินความเสี่ยง (ค) การจัดทำแผนจัดการความเสี่ยงด้านความปลอดภัยและสุขภาพ (๔) หมวดวิชาที่ ๔ ระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย และการตรวจประเมินมีระยะเวลาการอบรมหกชั่วโมง ประกอบด้วยหัวข้อวิชา (ก) ระบบการจัดการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยและการประยุกต์ใช้ (ข) การจัดทำคู่มือและมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงาน (ค) การประเมินผลและการวัดผลการปฏิบัติงานด้านความปลอดภัย (ง) การตรวจประเมิน ข้อ ๑๑ การอบรมภาคปฏิบัติสำหรับผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิค หรือเป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับเทคนิคขั้นสูงต้องมีกำหนดระยะเวลาการอบรมสิบสองชั่วโมง ประกอบด้วยการสัมมนาเชิงปฏิบัติการที่ผู้เข้ารับการอบรมต้องจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงพร้อมนำเสนอรายงานการจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยงในสถานประกอบกิจการของตน และการระดมความคิดเห็นในการปรับปรุงและพัฒนาแผน ข้อ ๑๒ ผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ต้องเข้ารับการอบรมเต็มเวลาตลอดหลักสูตรตามข้อ ๖ รวมทั้งต้องผ่านการวัดผลและประเมินผลตามข้อ ๑๔ (๔) หมวด ๓ วิทยากร ----------------------- ข้อ ๑๓ วิทยากรหลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ต้องมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ (๑) เป็นหรือเคยเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการที่มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า หรือผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัยในการทำงานของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ทั้งนี้ ต้องปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการทำงานมาไม่น้อยกว่าห้าปี และมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าสามปี (๒) เป็นอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐหรือเอกชนที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีสาขาอาชีวอนามัย หรือเทียบเท่า โดยสอนวิชาที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และมีประสบการณ์การสอนเกี่ยวกับวิชาดังกล่าวไม่น้อยกว่าสามปี (๓) เป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิชาที่บรรยายไม่น้อยกว่าห้าปี หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงเกี่ยวกับการพัฒนาองค์ความรู้หรือมาตรฐานด้านความปลอดภัยในการทำงานไม่น้อยกว่าห้าปี ทั้งนี้ ต้องมีประสบการณ์การเป็นวิทยากรเกี่ยวกับหัวข้อวิชาที่บรรยายมาไม่น้อยกว่าสามปี หมวด ๔ การดำเนินการอบรม ----------------------- ข้อ ๑๔ หน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยต้องดำเนินการอบรมตามหลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยและต้องดำเนินการ ดังนี้ (๑) แจ้งกำหนดการอบรมแต่ละครั้งต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายก่อนวันอบรมไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน (๒) จัดให้มีเอกสารประกอบการอบรมที่มีเนื้อหาและรายละเอียดตามหลักสูตร (๓) จัดให้ห้องอบรมหนึ่งห้องมีผู้เข้ารับการอบรมไม่เกินหกสิบคนและวิทยากรอย่างน้อยหนึ่งคน (๔) จัดให้มีการวัดผลและประเมินผลการอบรม (๕) ออกใบรับรองให้แก่ผู้ผ่านการอบรม ข้อ ๑๕ ให้หน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย และเอกสารประเมินผลการอบรมของผู้ผ่านการอบรมแต่ละราย โดยให้วิทยากรซึ่งเป็นผู้ดำเนินการอบรมเป็นผู้รับรองเอกสารดังกล่าว และส่งเอกสารนั้นต่ออธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการอบรม ข้อ ๑๖ หน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจดังต่อไปนี้ (๑) มีหนังสือเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด (๒) สั่งให้หยุดการดำเนินการอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัยเป็นการชั่วคราว (๓) ยกเลิกการให้ความเห็นชอบเป็นหน่วยงานอบรมหัวหน้าหน่วยงานความปลอดภัย ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ ผดุงศักดิ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เล่ม ๑๒๕ ตอนพิเศษ ๖๓ ง ราชกิจจานุเบกษา ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๑
|
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() |